บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ ชาวฝรั่งเศส
เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ
ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ

ด้วยความใฝ่ฝันที่จะต่อสู้กับการปล่อยปละละเลยในเรื่องการศึกษาและความโง่เขลาของเด็ก ๆ ในละแวกวัด ในปี พ.ศ. 2420(ค.ศ. 1877)ท่านจึงตั้งโรงเรียนวัดชื่อโรงเรียนไทย-ฝรั่ง เพื่อสอนภาษาฝรั่งเศส และภาษาไทย ในวันแรกมีนักเรียน 12 คน สมัยนั้นเยาวชนทั้งหลายมิได้เอาใจใส่ต่อการเรียน ส่วนใหญ่มุ่งแต่จะเที่ยวเล่นไปตามลำคลองเท่านั้น แต่บาทหลวงกอลมเบต์เห็นการณ์ไกลไม่ท้อถอย
สองปีต่อมา ท่านจึงเปิดสอนภาษาอังกฤษเพิ่มอีกหนึ่งภาษา จนกระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) โรงเรียนได้เปิดอย่างเป็นทางการใช้ชื่อว่า โรงเรียนอาซัมซาน กอเล็ศ โดยใช้เรือนไม้หลังใหญ่ซึ่งเคยเป็นที่พักของเณรคาทอลิก ให้เป็นอาคารเรียนหลังแรก และขอร้องให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาเรียน วันแรกมีนักเรียนนับจำนวนได้ 33 คน จนถึงสิ้นปีมี นักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 80 คน ในปีต่อมา มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 130 คน

เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นและโรงเรียนเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น ท่านจึงขยายโรงเรียนโดยสร้างอาคารเรียนอีกหนึ่งหลังโดยทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี อีกทั้งบอกบุญเรี่ยไรไปยังบรรดาเจ้านายพ่อค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ ด้านทุนทรัพย์เป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2430 (ค.ศ. 1887) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามกุฎราชกุมาร เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ ตึกเรียนหลังแรก ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ตึกเก่า”

ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมงเสส
ทรงจับฆ้อนเคาะแผ่นศิลานั้น แล้วตรัสว่า
ให้ที่นี่ถาวรมั่นคงสืบไป
พระดำรัส สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
คราวเสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ อาคารเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔ แผ่นที่ ๑๘ หมายเลข ๑๓๘

ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล 5 ท่านแรก เดินทางมายังประเทศไทย

วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) คณะเซนต์คาเบรียลได้ส่งคณะภราดา 5 ท่านมายังประเทศไทย เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของคุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งชราภาพ ได้แก่ ภราดามาร์ติน เดอ ตูรส์ (อธิการคนที่ 2) ภราดาอาแบล ภราดาออกูสต์ ภราดาคาเบรียล ฟาร์เร็ตตี หนึ่งในนั้นได้แก่ ภราดาฮีแลร์ โดยได้เข้ามาสานต่องานด้านการศึกษา

จาก โรงเรียนอาซัมซานกอเล็ศ เป็น โรงเรียนอัสสัมชัญ

โรงเรียนนี้ถือเป็นโรงเรียนแรกในเครือมูลนิธิฯ ที่รับเฉพาะนักเรียนชาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อจาก โรงเรียนอาซัมซานกอเล็ศ เป็น "โรงเรียนอัสสัมชัญ" และใช้ชื่อย่อว่า อสช แปลว่า "ตำแหน่งที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้" ส่วนชื่อ Assumption หมายถึงพระนางพรหมจารี มารีอา พระชนนีของพระเป็นเจ้า ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ทั้งกายและวิญญาณ

เมื่อมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทำให้ตึกเรียนไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ปกครองและศิษย์เก่า ทางคณะภราดาเซนต์คาเบรียล จึงได้มีมติให้ก่อตั้ง โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2508 ณ เลขที่ 164 ซอยสาทร 11 ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ บนเนื้อที่ 8 ไร่

ทั้งนี้ โรงเรียนเปิดโครงการการเรียนการสอนตามหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) ในปี การศึกษา พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนที่สนใจ

ตลอดระยะเวลาที่โรงเรียนเปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2428 จนถึงปัจจุบันย่อมเป็นที่ประจักษ์ แก่สังคมว่านักเรียนอัสสัมชัญสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ เป็นผู้มีความพร้อมทั้งด้านวิชา ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และมีคุณธรรมประจำใจสามารถประสบความสำเร็จในวิชาชีพอย่างสง่างามและได้รับใช้ประเทศชาติ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 ท่าน ได้แก่
1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (เลขประจำตัว 961)
2. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (เลขประจำตัว 3567)
3. พันตรีควง อภัยวงศ์ (เลขประจำตัว 2990)
4. ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ (เลขประจำตัว 3570)

โรงเรียนยึดมั่นต่อภาระหน้าที่ที่จะจัดการศึกษาให้นักเรียนมีคุณภาพ และมีพื้นฐานที่ดีสำหรับพัฒนาตนเอง ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมโดยมีความรับผิดชอบ ความเสียสละ รักสันติ มีคุณธรรม และพร้อมเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมสืบไป

ประวัติสังเขปบาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์

บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ เกิดที่เมืองกัป แขวงโอ๊ต-อัลป์ต ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392) ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
วันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415) ท่านเดินทางถึงประเทศไทย ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ที่บ้านเณร บางนกแขวก เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2418) ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญในเวลาต่อมา
ปี ค.ศ. 1877 (พ.ศ. 2420) เปิดโรงเรียนประจำวัดอัสสัมชัญขึ้น โดยใช้อาคารเดิมของบ้านเณรอัสสัมชัญเป็นโรงเรียน ทำการสอนเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทย ให้การศึกษาอบรมแก่เด็กคริสตังและลูกหลานชาวยุโรป
ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) ได้เพิ่มแผนการเรียนภาษาอังกฤษเข้ามาควบคู่กับภาษาฝรั่งเศส
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) ได้เปลี่ยนฐานะของโรงเรียน จากโรงเรียนประจำวัดมาเป็น “อัสสัมชัญคอลเลจ” และเปิดรับเด็กๆ ในกรุงเทพฯ เข้ามาศึกษา ได้เสนอโครงการขยายการศึกษา และก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ต่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 50 ชั่ง และสมเด็จพระบรมราชินี (สมเด็จพระนางสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) พระราชทานอีก 25 ชั่ง สมทบทุนสร้างด้วย เพื่อเป็นรากฐานในการก่อสร้างรวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์โดยเสด็จพระราชกุศลด้วย และข้าราชการชั้นสูงก็ได้ร่วมสมทบทุน
คุณพ่อกอลมเบต์กลับไปประเทศฝรั่งเศส ได้เข้าพบท่านอัคราธิการแห่งคณะเซนต์คาเบรียล ณ เมืองแซงต์โลรังต์ ซัวร์ แซฟร์ ประเทศฝรั่งเศส และมอบภารกิจโรงเรียนอัสสัมชัญในประเทศไทยให้แก่คณะฯ
ในปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) ท่านอธิการใหญ่คณะภราดาเซนต์คาเบรียล ได้ส่งภราดา 5 ท่านแรก ประกอบด้วย ภราดามาร์ติน เดอ ตูร์ ภราดาอาเบล ภราดาออกูส ภราดาคาเบรียล ฟาเร็ดตี และภราดาฮีแลร์ เป็นคณะดำเนินงานโรงเรียนอัสสัมชัญรับหน้าที่บริหารโรงเรียนต่อไป โดยเดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1901 (พ.ศ. 2444)
ท่านได้ริเริ่มจัดตั้ง “สโมสรนักเรียนเก่าอัสสัมชัญ” ในปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประมุขมิสซังฯ และปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) รักษาการในตำแหน่งประมุขมิสซังฯ ชั่วคราว
วันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2476) ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลา เลยีออง ดอนเนอร์ (La L’gion D’Honneur) จากรัฐบาลฝรั่งเศสในฐานะที่คุณพ่อได้ประกอบคุณงามความดีทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน ฐานะที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศสยาม
วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) คุณพ่อกอลมเบต์ ผู้สถาปนาโรงเรียนอัสสัมชัญได้มรณภาพที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ รวมอายุ 84 ปี ศพของท่านถูกบรรจุไว้ชั้นใต้ดินอาสนวิหารอัสสัมชัญ

ประวัติสังเขปเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์

เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ นามเดิม ฟรังซัว ตูเวอเนท์ (Francois Touvénet) ฟ. ย่อมาจากภาษาฝรั่งเศส Frére ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Brother และมีความหมายตรงกับภาษาไทยว่าภราดา หรือ เจษฏาจารย์ ท่านเกิดที่ตำบลจำโปเนีย เมืองบัวเตียร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) ในวัยเยาว์ได้รับการศึกษาในโรงเรียนชั้นต้น แถบบ้านเกิดนั่นเองด้วยเป็นผู้มีอุปนิสัยน้อมนำไปทางพระศาสนาคาทอลิกมาแต่ปฐมวัย เมื่ออายุครบ 12 ปี จึงขออนุญาตบิดามารดา เข้าฝึกในสถานอบรมเป็นภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ที่เมืองซังลอลังต์ ซิวแซฟวร์ ในมณฑลวังเด
หลังจากร่ำเรียนวิชาทางศาสนา วิชาครู และวิชาอื่น ๆ จนสำเร็จแล้วจึงประกาศอุทิศตนถวายพระเจ้าเป็นภราดาเมื่ออายุ 18 ปี ท่านได้ปฏิบัติกิจต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด สมเป็นผู้ทรงศีลรักความสันโดษ และพยายามทำตนเป็นแบบอย่างสมกับความเป็นครูทุกประการ
เมื่อคณะเจษฎาจารย์ทั้ง 5 ท่าน โดยมีเจษฎาจารย์มาร์ติน เดอร์ ตูรส์ เป็นหัวหน้า เข้ามารับผิดชอบดูแลโรงเรียนต่อจากบาทหลวงกอลมเบต์นั้น เจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ มีอายุเพียง 20 ปี ซึ่งนับว่าหนุ่มที่สุดในคณะ เมื่อแรกเข้ามาเมืองไทย ท่านเห็นจะหนักใจกว่าผู้อื่น ด้วยภาษาอังกฤษก็ยังไม่ค่อยคล่อง ภาษาไทยก็ไม่สันทัด ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงแรกคุณพ่อกอลมเบต์ ต้องรักษาตัวที่ฝรั่งเศสยังกลับกรุงเทพฯ ไม่ได้ แต่ด้วยความตั้งใจท่านจึงต้องสนใจเรียนภาษาไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ท่านพยายามฟังเด็กไทย ท่องมูลบทบรรพกิจอยู่เป็นประจำ จนถึงกลับหลงใหลจังหวะจะโคนท่านมุมานะเรียนภาษาไทย จนได้รับหน้าที่ปฏิคมของโรงเรียน รับสมัครนักเรียนใหม่ และหน้าที่สำคัญคือ ทุกวันเสาร์ท่านจะพานักเรียนขึ้นหอประชุมอบรมจิตใจและศีลธรรมจรรยา ซึ่งนับว่าท่านมีวาทศิลป์เลิศล้ำเป็นที่เลื่อมใส เมื่อท่านเข้ามาอยู่ประเทศไทยได้ประมาณ 9 ปี ท่านได้แต่งตำราภาษาไทยสอนเด็กนั่นคือ หนังสือ “ดรุณศึกษา” ที่ยังใช้เรียนอยู่จนปัจจุบัน
หน้าที่หลักของท่านคือ อาจารย์ผู้ปกครองจำต้องรักษาระเบียบข้อบังคับของโรงเรียนอย่างเข้มงวดจนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา กอปรกับท่านมีท่าทางน่าเกรงขาม นักเรียนที่จบออกไปจะจำบุคลิกของท่านได้เป็นอย่างดี ท่านพอใจความเป็นครูยิ่งกว่าอื่นใด เมื่องานด้านบริหารไม่รัดตัวท่านจะหาเวลาไปสอนหนังสือเสมอ ศิษย์ที่เรียนกับท่านจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ ครูฮีแลร์ช่างผิดกับอาจารย์ผู้ปกครอง เพราะท่านมีกลเม็ดในการสอนเด็กจะซนบ้าง เซ่อบ้าง ขี้เกียจบ้าง ท่านก็มักปล่อยโดยใช้พระคุณในห้องเรียน แต่ใช้พระเดชนอกห้องซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น วิชาที่ท่านชอบสอนเป็นพิเศษ คือ แปลไทยเป็นอังกฤษและแปลอังกฤษเป็นไทย หากครูไทยขาด ท่านมักสอนภาษาไทยแทนด้วย ต่อมาท่านได้ล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน ถึงกับต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ขณะนั้นท่านอายุได้ 70 กว่าปีแล้ว เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ทำเรื่องขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลียองดอนเนอร์ให้ท่านเพื่อเป็นเกียรติ
ท่านอยู่ในโรงเรียนอัสสัมชัญโดยไม่มีหน้าที่ประจำ แต่เป็นที่ปรึกษาของอธิการกลาย ๆ ด้วยทำงานมานานและอยู่มานาน ต่อมามีอาการโรคชราหลง ๆ ลืม ๆ และอาการที่น่าเป็นห่วงหลายครั้ง ซึ่งต่อมาท่านก็จำใครไม่ได้ สายตามองไม่เห็นทำให้อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือที่ท่านชอบไม่ได้ ท้ายสุดตามคำวินิจฉัยของแพทย์ว่าเส้นโลหิตฝอยแตก เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานแต่อาการทรุดลงเรื่อย ๆ
ท่านสิ้นชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม ค.ส. 1968 (พ.ศ. 2511) รวมอายุได้เพียง 87 ปี ซึ่งอีกเพียง 17 วัน ท่านก็จะอยู่เมืองไทยครบ 67 ปี